หยุดใจให้ไร้อยาก ตอน 1 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) 
นมัตถุ รตนัตตยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้จงตั้งใจฟังธรรมพร้อมกับการปฏิบัติธรรม เจริญสติสัมปชัญญะ พร้อมกับการฟังธรรมก็จะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของความรู้จากการฟัง เรียกว่า สุตมยปัญญา ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของความคิดพิจารณาระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ จนรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา ปัญญาก็มีสามระดับคือ หนึ่งระดับจากการฟัง สองระดับจากการคิด สามระดับจากการรู้เห็นเฉพาะหน้า คือ เมื่อมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมที่กำลังปรากฏก็เกิดปัญญา มีปัญญาปรากฏเกิดขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา
เรื่องการประพฤติปฏิบัติส่วนมาก นักปฏิบัติก็มัดจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องว่า “ปฏิบัติแล้วไม่สงบ” “อยากจะสงบ” เจริญกรรมฐานอยากให้จิตใจสงบ บางครั้งบางคราวเคยได้รับความสงบจิตใจได้รับความสงบก็อยากจะให้ความสงบนั้นเกิดขึ้นอีก ทำกรรมฐานทีไรก็อยากจะสงบอย่างนั้นอีก พอมันไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็ยิ่งเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความเบื่อหน่ายท้อถอยต่อการที่จะฝึกหัด ต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติ
ทำไมบุคคลจึงเกิดความฟุ้งมากขึ้น ทำไมจึงเกิดความท้อถอยมากขึ้น นั่นก็เพราะว่ามีความอยาก มันเป็นตัณหาเข้ามาในการปฏิบัติ เคยได้รับความสงบแล้วก็ทำ แล้วก็เกิดความอยากสงบ เกิดความติดใจ เกิดความอยากที่จะให้จิตใจอยู่ในความสงบ เป็นตัณหา เป็นธรรมตัณหา เป็นโลภะที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ ความอยากในที่นี้ ไม่ใช่ไปอยากได้เงินได้ทอง ไม่ได้ไปอยากที่จะต้องการยศลาภชื่อเสียงอะไร แต่ว่าอยากสงบ อยากในธรรมนั่นเอง อยากสมาธิ มันก็ยังเป็นกิเลส ยังเป็นอกุศลอยู่ ความอยากนี่แหละมันไปเสริมให้ความไม่สงบกระจายตัวมากขึ้น คือความฟุ้งซ่านจะมีมากขึ้นเพราะว่าไม่สมความปรารภนา
อยากสงบแล้วมันไม่ยอมสงบก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความคับแค้นใจ เกิดความน้อยใจ มันก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่ง ประเภทโทสะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ คือ ฟุ้งซ่าน มันเลยผสมมันเลยสนับสนุนกิเลสกันไปใหญ่ ความท้อถอยก็ตามมา เพราะว่ามันไม่ได้อย่างใจ เกิดความท้อถอยเบื่อหน่ายไม่มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ อันนี้มันก็เป็นกิเลสเรียกว่าถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ท้อถอย ความเซื่องซึมท้อถอยของจิตของเจตสิก ท่านจัดเป็นนิวรณ์ข้อหนึ่ง เรียกว่าถีนมิทธะนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้น คือเป็นเครื่องกั้นความดีที่จะเกิดขึ้น ฟุ้งซ่านก็เป็นนิวรณ์เป็นเครื่องกั้น รำคาญใจก็เป็นนิวรณ์ ความคับแค้นใจก็เป็นนิวรณ์ มันจะรุมมาเกิดขึ้นในจิตใจ ฉะนั้นต้นเหตุมันก็มาจากความอยาก มาจากความอยากที่จะให้ได้อย่างนั้น จะให้ได้อย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุ ความทุกข์ทั้งหลายมาจากเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ความอยากทะยานอยากได้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การจะแก้ปัญหา แก้ทุกข์ การจะดับทุกข์ ก็คือต้องไปแก้ที่เหตุ ต้องทำลายเหตุแห่งทุกข์คือ ตัณหาความทะยานอยาก อยากมีอยากเป็น อยากในกาม อยากไม่มีอยากไม่เป็น เวลามันมีอารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็อยากให้มันหมดไป อยากให้มันสิ้นไป ไม่เอาไม่ต้องการ อยากให้มันพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นกิเลสเป็นตัณหา ตัณหามีสามอย่างคือ กามตัณหา ความต้องการติดใจในกามคุณอารมณ์ อยากได้รูปสวยเสียงเพราะกลิ่นหอมรสอร่อยสัมผัสนุ่มนวลเป็น “กามตัณหา” อยากมีอยากเป็นอยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้เป็น “ภวตัณหา” อยากให้มันไม่มีไม่เป็นให้มันหมดไป สิ่งที่ไม่ชอบใจให้มันไป ให้มันหมดไป ปฏิเสธผลักไสผลักดัน มันก็เป็น “วิภวตัณหา” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ในจิตใจที่วุ่นวายเป็นทุกข์เมื่อสาวไปแล้ว มันก็มาจากกิเลส มาจากโลภะ มาจากตัณหาก็ต้องไปดับตัณหาไปทำลายตัณหาให้สิ้นซาก เมื่อเวลาประพฤติปฏิบัติจึงต้องรู้เท่ารู้ทันต่อตัณหาที่จะเกิดขึ้น ต้องพิจารณาในจิตใจว่าขณะนี้มีความทะยานอยากไหม มันมีตัณหาประเภทไหนเกิดขึ้น อยากสงบมันก็เป็นตัณหา เป็นการอยากมีอยากเป็นอยากได้ความสุข อยากได้ความสงบ มีตัณหาเข้ามาแล้ว ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ มันไม่สงบดังใจขึ้นมามันก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความวุ่นวายใจยิ่งขึ้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องอ่านจิตใจตัวเองให้ออกว่าขณะนี้มีตัณหาไหม มีความทะยานอยากไหม ถ้ามีก็ต้องแก้ไข แก้ไขอย่างไร อันดับแรกก็คือ “รู้ทัน” รู้ลักษณะของตัณหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ “ละวาง” ฝึกหัดการเจริญสติสัมปชัญญะให้มันหลุดรอดหลุดพ้นจากตัณหาเรียกว่าให้มันมีความปล่อยวาง ฝึกหัดการให้มันมีความปล่อยวาง
ในเบื้องแรกต้องทำความเข้าใจว่า เราจะปฏิบัติอย่างไม่อยากได้อะไร อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของธรรมชาติที่มันจะเกิด มันจะเกิดมันจะดับก็แล้วแต่มัน จะทำหน้าที่เป็น “เพียงผู้ดู” เป็นเพียง “ผู้รู้เท่านั้น” จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตใจมันหลุดจากความอยากจะพบความเบาจะพบความสงบ ความเบาใจมันจะเกิดขึ้น จิตที่มันมีความขุ่นมัวเศร้าหมองนั่นเพราะมันมีความอยากเคลือบจิตอยู่ มันเป็นนิสัยมันเคยชินปุถุชนมันมีตัณหาติดอยู่ในจิตใจอยู่เสมอ จะทำอะไรจะคิดอะไรมันจะเป็นไปด้วยความอยากตลอด ฉะนั้นเรามาปฏิบัติมาฝึกหัดละตัณหาไม่ให้มันมีความอยาก เจริญกรรมฐานก็ใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้เท่าทันต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ คือรูปธรรม นามธรรมที่ปรากฏ
ในขณะที่ระลึกรู้รูปนามอยู่นั้นก็คอยระวังไม่ให้มีตัณหาเข้าไป จะให้มันมีแต่ระลึกอย่างบริสุทธิ์ พิจารณาอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีความอยาก สภาพของจิตมันเป็นอย่างไร มันมีอารมณ์อันใด อารมณ์จะดีก็ตามไม่ดีก็ตาม ก็ทำหน้าที่ระลึกรู้ไปอย่างไม่มีความอยากได้หรืออย่างปฏิเสธ ดูแค่ดู รู้แค่รู้ การเจริญวิปัสสนาต้องฝึกจุดนี้ให้ได้ เป็นส่วนสำคัญ ฝึกหัดปฏิบัติไป ดูแลรักษาสภาพของจิตใจไม่ให้มันมีความอยาก มันเผลอเกิดความอยากก็แก้ไขเสียปล่อยวางเสีย ฝึกหัดให้มันปล่อยให้มันวาง ให้จิตใจมันเป็นธรรมดา ให้มันเป็นปรกติ ให้มันเป็นเพียงแค่ดู แค่รู้ ถ้าฝึกได้ ฝึกจิตใจให้มันปลอดจากตัณหาจะพบว่าจิตใจมันพร้อมที่จะเบิกบานของมัน
จิตใจมันพร้อมที่จะผ่องใส จิตใจมันพร้อมที่จะปลอดโปร่งของมัน เพราะว่าอะไร เพราะว่าตามธรรมดาสภาพของจิตเดิมโดยเฉพาะสภาพของจิตล้วนๆ ในสภาพจิตใจของมันเองมันเป็นสภาพที่ประภัสสรอยู่แล้ว คือผ่องใส จิตเดิมมันประภัสสรผ่องใส แต่นี่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะมันมีกิเลสจรเข้ามา มีตัณหา มีโทสะ โลภะ โมหะเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะตัณหาครอบงำเชื่อมจิตอยู่เสมอ ทำให้จิตใจมันเศร้าหมอง ถ้าปฏิบัติไม่ต้องไปหวังอะไร เพียงแต่เจริญสติให้มันปลอดจากความอยากได้ ทำไปแค่รู้ ดูไปแค่ดู ไม่มีความทะยานอยาก มีความวางเฉยมีความปล่อยอยู่ “ตัวที่มันมีการปล่อยอยู่นั้นมันทำให้หลุดรอดจากความอยาก” เราก็จะพบว่าจิตมันผ่องใสขึ้นจะเริ่มรู้ตัวเข้าสู่สภาพความปลอดโปร่งของมัน ผู้ปฏิบัติจะพบได้จะสังเกตได้
เรามาปฏิบัติมัวแต่วิ่งหาตัณหาอยากได้ความสงบ ความสงบความสะอาดความผ่องใสของจิตมันอยู่แค่ หยุด ความอยาก แค่ละความอยากตรงนี้เองมันก็โปร่งเบาขึ้นมาเอง เหมือนคนที่วิ่งไป วิ่งค้นหาไปแล้วไปบ่นว่าเหนื่อย เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็วิ่งไป วิ่งหาสภาพที่มันไม่เหนื่อย แต่ก็ยังวิ่งหาอยู่ การที่มันจะไม่เหนื่อยก็คือหยุดซะ หยุดซะมันก็ไม่เหนื่อย ตานี้วิ่งหาค้นหาขวักไขว่ก็บ่นว่าเหนื่อย เหมือนกับความอยากที่มันแล่นไป มันก็เศร้าเหมอง เบื่อหน่ายเศร้าหมอง ทุกข์ ความอยากก็นำมาซึ่งความยุ่งยาก ถ้าหยุดอยากมันก็ไม่ยุ่งยาก มีอยากมันก็มียาก ถ้าไม่อยากมันก็ไม่ยาก
จิตอุปมาเหมือนกับน้ำ จิตมันเหมือนกับน้ำ น้ำในแม่น้ำลำคลองที่ตักขึ้นมาจะเห็นว่ามันขุ่นมัวมันสกปรก ที่มันสกปรกนั้นไม่ใช่ตัวน้ำ มันสกปรกเพราะมันมีสิ่งปฏิกูลต่างๆ เข้าไปผสมในน้ำต่างหาก ตัวน้ำจริงๆ นั้นจะบริสุทธิ์เหมือนกับจิตเดิมมันบริสุทธิ์ จิตมันประภัสสรของมันอยู่ แต่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะมันมีกิเลสต่างๆ เข้ามา ฉะนั้น น้ำที่ตักขึ้นมาเอาขึ้นมาจากแม่น้ำลำคลองนี้ ถ้าเราสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งปฏิกูลตะกอนต่างๆ ออกไปจากน้ำได้ น้ำก็จะคืนสภาพธรรมชาติของมันคือใสสะอาด ความใสสะอาดบริสุทธิ์ มันก็ไม่ได้มาจากไหนมันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ
ที่เราตักใส่ถังมานี่ แสดงว่าในนั้นมีน้ำที่สะอาดอยู่และก็มีสิ่งปฏิกูลอยู่ “ความสะอาดไม่ได้มาจากที่อื่น มันเพียงแต่เอาสิ่งสกปรกออกไปให้ได้เท่านั้น ความสะอาดก็ปรากฏ ฉันใดก็ดี จิตใจนี้ก็เหมือนกันมันมีความสะอาดมันมีความผ่องใสของมันอยู่แล้วโดยพื้นฐานของจิต แต่ว่ามันขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะมันมีกิเลสต่างหากจรเข้ามาแปดเปื้อน ฉะนั้น กิเลสตัวหนึ่งก็คือตัณหาหรือว่าโลภะ เพียงการปฏิบัติให้มันหยุดอยากได้ ระงับความอยากได้ ปฏิบัติฝึกหัดให้มันหลุดรอดจากความอยาก ให้เจริญสติสัมปชัญญะ ให้มันปลอดจากความอยาก ความผ่องใสของจิตก็จะเกิดขึ้นจะปรากฏขึ้นตามลำดับ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็พิสูจน์ได้”
เราปฏิบัติธรรมอยู่นี้ บางครั้งเราพยายามเหลือเกิน ขวนขวายประพฤติปฏิบัติทำเท่าไร ๆ มันก็ไม่สงบ เพราะเราทำด้วยความอยาก ทำด้วยขวักไขว่ทำด้วยความต้องการทะเยอทะยาน แต่ถ้าเกิดบางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจ นั่งปฏิบัติก็ไม่ได้คิดจะต้องการอะไรไม่ได้ต้องการความสงบ ทำไปเฉยๆ เราจะพบว่า เอ๊ะ จิตใจมันทำไมสบายมันโปร่งมันสงบ นั่นคือปฏิบัติแล้ว ขณะนั้นคือการปฏิบัติที่ทำได้ดีเป็นการปฏิบัติที่ปลอดจากตัณหา ผลมันก็จะเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว จิตที่ผ่องใสจิตที่สงบ มันเกิดขึ้นมาโดยที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้ตั้งใจ
อันนี้สำหรับผู้ที่ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ย่อมทบทวนการประพฤติปฏิบัติของตัวเองที่ผ่านมาได้ บางครั้งทำ นั่งธรรมดาแท้ๆ จิตกลับสงบโปร่งเบา เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ลองมาฝึกจิตในลักษณะอย่างนั้นดู เวลานั่งปฏิบัติ เริ่มต้นนั่งปฏิบัติก็ทำเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ “พยายามจะทำเหมือนแบบไม่ได้ทำ จะปรับปรุงผ่อนทางกายทางจิตให้มีสภาพเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ ความเบาใจมันจะเกิดขึ้นให้เห็นได้ ถ้าเกิดความชำนาญขึ้น การปรับปรุงผ่อนการวางท่าทีของสติสัมปชัญญะที่ได้ส่วนที่เป็นกลางที่ปลอดจากตัณหานี้ ถ้ามีความชำนาญขึ้นทำแล้วก็เข้าสู่จุดของความเป็นกลางได้ทันทีก็จะพบความเบาใจไปได้ทันที ไม่ต้องคอยโอกาส”
ถ้าจิตปลอดจากตัณหาความโปร่งใจก็จะเกิดขึ้น แต่พอตัณหาเข้ามาความขุ่นมัวของจิตก็เกิดขึ้น ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติบางครั้งเราอาจจะทดลองดูก็ได้ คือว่าเราจะปฏิบัติเน้นไปในแง่ไม่ให้มีความอยาก คือเราจะไม่มุ่งดูมุ่งจะเอาอะไรแต่จะมุ่งแค่ไม่อยากได้อะไร เราลองทำอย่างนี้ดูก็ได้ นั่งไปก็ทำใจแบบจะไม่เอาอะไรท่าเดียวจะวางเฉยจะปล่อยจะวางจะไม่เอาอะไรฝึกจิตไปอย่างนี้อย่างเดียว ปรับปรุงปรับผ่อน รักษาจิต บอกจิตตัวเอง ควบคุมรักษาจิตใจให้จิตมันไม่เอาอะไร จิตมันไม่เอาอะไร มันปล่อย มันวาง มันไม่เอาอะไร เราก็จะพบความเบาใจเกิดขึ้น ความสงบใจมันก็เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหา ค้นหาอะไรที่ตรงไหน ขณะที่เราปฏิบัตินี่เรากลัวเราจะไม่ได้อะไร ทำแล้วกลัวจะไม่ได้อะไร จึงพยายามจะให้ได้ด้วยความทะยานอยาก นั่นแหละมันคือไม่ได้อะไร “ยิ่งอยากจะได้มันก็ไม่ได้เพราะสิ่งที่ควรได้คือความละวาง ความสละ ความปล่อย”
ที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนานี้เป้าหมายก็คือ การสละได้ การปล่อยได้ การวางได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติด้วยความที่จะเอาให้ได้ ปฏิบัติด้วยความอยากมันตรงกันข้าม เหตุกับผลมันไม่ตรงกัน ผลของมันก็คือสิ้นอยาก เหตุมันจะเข้าไปอยากยึดมั่นถือมั่นไม่ตรงกับเป้าหมาย เป้าหมายนั้นคือ การสละ การปล่อยวาง เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็มาทำเหตุเสียใหม่ ทำเหตุให้มันตรงต่อผล เมื่อผลคือความปล่อยคือการวางคือการสละคืน ก็ทำเหตุให้มันตรงต่อผลคือให้มันไร้ความอยากทำไปนี่ ฝึกหัดการให้มันพยายามที่จะปลอดจากความอยากไว้เรื่อยๆ เมื่อความอยากเข้ามา ก็ดูแลรักษาปรับปรุง ปรับผ่อนให้จิตใจมันไม่มีความอยาก
เราใช้สติ เจริญสติเป็นตัวระลึก สัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณาเป็นตัวใส่ใจเป็นตัวสังเกตอารมณ์ของสติหรือกรรมฐาน ถ้าเป็นวิปัสสนาก็ต้องเป็นรูปนามหรือเป็นสภาวะให้เกิดปัญญาอารมณ์นั้นจะต้องเป็นของจริง แต่ถ้าเป็นสมถะจะปฏิบัติเพื่อความสงบ อารมณ์ก็ต้องเป็นบัญญัติเป็นสมมติ การทำความสงบในลักษณะของสมถะมันจะต่างจากความสงบของวิปัสสนา ความสงบของวิปัสสนาก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ที่บอกมาในเบื้องต้นทำด้วยความไม่ต้องการอะไร มีสติระลึกรู้ด้วยความปล่อยวาง ความสงบมันจะเกิดขึ้นมาเอง ความสงบมันจะมาบวกกับสติสัมปชัญญะไม่ใช่เป็นความสงบแบบดับดิ่ง เป็นเพียงความโปร่งใจเบาใจแต่ยังมีสติสัมปชัญญะที่จะระลึกที่จะพิจารณาได้
ที่มา @ http://www.watmahaeyong.net
  • Admins

    Related Posts

    จำ จน ตาย (2024) Remember

    จำ จน ตายชื่อหนัง: จำ จน ตาย, Rememberประเภท: สืบสวน สอบสวน อาชญากรรม ดราม่า โรแมนติกวันที่เข้าฉาย:12 เมษายน 2024กำกับโดย: เพชร-วรายุ นักแสดงนำ: ชานน สันตินธรกุล,นลินทิพย์ สกุลอ่องอำไพ,ชาคริต แย้มนาม,ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง และ นิธิดล ป้อมสุวรรณ เรื่องย่อรีวิว: สำหรับใครที่กำลังรอรับชมซีรี่ย์ไทยแนว สืบสวน สอบสวน อาชญากรรม ดราม่า…

    สถานที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้

    สถานที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้ “บารมี ๑๐ ทัศของพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบัน ท่านอาจารย์ตื้อได้บอกไว้ว่า ทานบารมี พระเวสสันดร อยู่มหาชัย จำปาศักดิ์ ศีลบารมี พญานาคเผือกภูริทัตต์ อยู่อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ เนกขัมมบารมี เตมียะใบ้ อยู่เมือง พาราณสี ปัญญาบารมี มโหสถ กรุงเทวทหะ วิริยบารมี มหาชนกตกน้ำ เป็นไทเงี้ยว ขันติบารมี จันทกุมาร เมืองญวน ตุมวังฟ้ารอนหาด ตังเง้ชายง่วนเดี่ยว…

    You Missed

    General Well (2024) งานเลี้ยงหนานเฉิง

    • By FINN
    • June 22, 2024
    • 16 views
    General Well (2024) งานเลี้ยงหนานเฉิง

    ร้านราเมนทงคตสึชื่อดัง อุเมดะ ชิบาตะ (ICHIRAN Umeda Shibata)

    • By FINN
    • June 17, 2024
    • 10 views
    ร้านราเมนทงคตสึชื่อดัง อุเมดะ ชิบาตะ (ICHIRAN Umeda Shibata)

    The Legend of Heroes Hot Blooded (2024) มังกรหยก ก๊วยเจ๋งอึ้งย้ง

    • By FINN
    • June 17, 2024
    • 11 views
    The Legend of Heroes Hot Blooded (2024) มังกรหยก ก๊วยเจ๋งอึ้งย้ง

    Miss Night and Day (2024) มิส ไนท์ แอนด์ เดย์

    • By FINN
    • June 16, 2024
    • 15 views
    Miss Night and Day (2024) มิส ไนท์ แอนด์ เดย์

    Jade’s Fateful Love (2024) ปาฏิหาริย์รักหยกวิเศษ

    • By FINN
    • June 16, 2024
    • 9 views
    Jade’s Fateful Love (2024) ปาฏิหาริย์รักหยกวิเศษ

    Deep Love Love Again (2024) ปมรักในรอยแค้น

    • By FINN
    • June 15, 2024
    • 13 views
    Deep Love Love Again (2024) ปมรักในรอยแค้น