วิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต ตอนที่ 2

06. ระบบประสาทของมนุษย์
ระบบประสาท (nervous system)
ระบบประสาท คือระบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว ระบบประสาทของมนุษย์แบ่งตามหน้าที่ออกเป็นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทรอบนอก

ระบบประสาทส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาท

สมอง (brain) เป็นศูนย์กลางของระบบประสาททั้งหมด
1. สมองส่วนหน้า
1.1 ซีรีบรัม (Cerebrum) มีขนาดใหญ่สุดรอยหยักมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ควบคุมการเคลื่อนไหว ความรู้สึก และประสาทสัมผัส

1.2 ทาลามัส (Thalamus) เป็นตัวกลางถ่ายทอดกระแสประสาทในสมอง

1.3 ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลร่างกายและการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ การหลับ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น

2. สมองส่วนกลาง มีเซลล์เชื่อมระหว่างสมองส่วนหน้ากับส่วนท้ายและส่วนหน้ากับตา ทำให้ลูกตากลอกไปมา และม่านตาหดขยายได้

3. สมองส่วนท้าย
3.1 ซีรีเบลลัม (Cerebellum) อยู่ใต้ซีรีบรัม ควบคุมระบบกล้ามเนื้อและการทรงตัว

3.2 พอนส์ (Pons) อยู่ด้านหน้าของซีรีเบลลัม มีใยประสาทเชื่อมระหว่างซีรีบรัมและซีรีเบลลัม ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวพร้อมกับทรงตัวได้

3.3 เมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) อยู่ติดกับพอนส์ทางด้านบน เป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การหายใจ

สมองส่วนกลาง พอนส์ และเมดัลลาออบลองกาตา รวมกันเรียกว่า “ก้านสมอง (brain stem)”

ไขสันหลัง (spinal cord) ทำหน้าที่เชื่อมกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกทั่วร่างกายกับสมอง

เซลล์ประสาท (neuron) เป็นกลุ่มของใยประสาทหลายอันที่มารวมกัน ใยประสาทรับความรู้สีก เรียกว่า เดนไดรท์ (dendrite) ส่วนใยประสาทที่ส่งความรู้สึกเรียกว่า แอกซอน (axon) เซลล์ประสาทมี 3 ส่วน ได้แก่

  1. เซลล์ประสาทรับความรู้สึก รับกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัส เข้าสู่สมองและไขสันหลัง
  2. เซลล์ประสาทนำคำสั่ง เชื่อมเซลล์ประสาทรับความรู้สึกกับสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาทสั่งการ
  3. เซลล์ประสาทสั่งการ รับคำสั่งจากสมองหรือไขสันหลังให้ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

ระบบประสาทรอบนอก 
ประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกทั้งหมด เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง และนำกระแสประสาทสั่งการจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังหน่วยรับความรู้สึกและอวัยวะรับสัมผัส รวมทั้งเซลล์ประสาท ซึ่งจำแนกตามลักษณะการทำงานได้ 2 แบบ คือ

  1. ระบบประสาทภายใต้อำนาจจิตใจ ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อที่บังคับได้
  2. ระบบประสาทนอกอำนาจจิตใจ เป็นระบบประสาทที่ไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง เรียกว่า ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ซึ่งตอบนองต่อสิ่งเร้าทันที เช่น เมื่อนิ้วถูกความร้อน กระแสประสาทจะส่งไปไขสันหลัง ไม่ผ่านสมอง ไขสันหลังจะสั่งให้กล้ามเนื้อที่แขนหดตัวและดึงมือออกทันที

การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
การตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายใน เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ความหิว ความต้องการทางเพศ เป็นต้น และสิ่งเร้าภายนอกร่างกาย เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ อาหาร น้ำ การสัมผัส สารเคมี เป็นต้น

สรุปสาระสำคัญ
ระบบประสาททำให้เราตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้ ศูนย์กลางของระบบประสาทคือสมอง

07. ระบบต่างๆของมนุษย์ทำงานร่วมกันอย่างไร


การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายร่วมกัน
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์หลายร้อยล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ก็จะถูกกำหนดให้เจริญเติบโตและทำหน้าที่เฉพาะ ซึ่งเซลล์ชนิดเดียวกันจะรวมเป็นเนื้อเยื่อ (tissues) เนื้อเยื่อเมื่อมาอยู่และทำงานร่วมกันเรียกว่า อวัยวะ (organ) อวัยวะที่ทำงานร่วมกันเรียกว่า ระบบ (system) และระบบต่างๆก็ทำงานร่วมกันเป็นร่างกาย
ในร่างกายแต่ละอวัยวะมีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ เช่น
ระบบย่อยอาหาร 
ประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก บางอวัยวะก็ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยแต่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ช่วยสร้างน้ำย่อย และสำไส้ใหญ่ ช่วยดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายยังดูดซึมไม่หมด

ระบบหมุนเวียนเลือดก็มีอวัยวะ 
ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย มีหน้าที่ลำเลียงแก๊สและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

ระบบทางเดินหายใจ 
ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ คือ จมูก ปอด ถุงลมในปอด กล้ามเนื้อ กะบังลม และกระดูกซี่โครง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ระบบขับถ่าย 
ก็คือการขับของเสียออกนอกร่างกายหลายรูปแบบ อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายของเสียในรูปแบบของเหลว คือ ผิวหนังที่ขับเหงื่อ และไตที่ขับปัสสาวะ ในรูปของของแข็ง คือ ลำไส้ใหญ่ และในรูปของแก๊ส คือ ปอด
ระบบประสาท ก็เป็นการทำงานร่วมกันของอวัยวะอย่างสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย

การทำงานร่วมกัน
เมื่อแต่ละระบบทำงานสัมพันธ์กันทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ เช่น ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายก็จะต้องการแก๊สออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน ร่างกายจึงหายใจถี่และเร็วขึ้นเพื่อนำแก๊สออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้เพียงพอกับการนำไปใช้ของร่างกาย และนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการสลายพลังงานออกไป หัวใจจะเต้นเร็วเพื่อสูบฉีดเลือดให้ทันต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อสลายพลังงานแล้วร่างกายก็จะขับเหงื่อที่เป็นของเสียออกจำนวนมาก หลังจากออกกำลังกายเราก็จะหิวและกระหายน้ำ ทำให้เราต้องดื่มน้ำและกินอาหารเพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไป ระบบย่อยอาหารก็จะต้องทำการย่อย ซึ่งการทำงานของระบบต่างๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องนี่เองที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ หากระบบใดระบบหนึ่งผิดปกติหรือทำงานไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อระบบอื่นๆเช่นกัน
สรุปสาระสำคัญ
เซลล์รวมกันเป็นเนื้อเยื่อ เนื่อเยื่อรวมกันเป็นอวัยวะ และอวัยวะทำงานร่วมกันเป็นระบบ
ทุกระบบในร่างกายต้องทำงานสัมพันธ์กัน
08. พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในและภายนอก

พฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง กิริยาของสิ่งมีชีวิตที่แสดงอออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยอาศัยการทำงานที่ประสานกันระหว่างระบบต่างๆของร่างกาย

สิ่งเร้า (Stimulus) คือสัญญาณหรือการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต แบ่งเป็น 2 ชนิด

สิ่งเร้าภายนอก (External stimulus) เช่น อุณหภูมิ แสง เสียง สารเคมี ความชื้น กลิ่น และแรงดึงดูดของโลก

สิ่งเร้าภายใน (Internal stimulus) เช่น การเปลี่ยนแปลงสรีระที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ระดับออกซิเจนในเลือด ฮอร์โมน เอนไซม์ ความหิว ความโกรธ และความเหนื่อย

พฤติกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด และ พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้

  1. พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เป็นพฤติกรรมแบบง่ายๆ และเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ใช้ตอบสนองสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น แสง เสียง สารเคมี ช่วงเวลา หรือการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล เป็นต้น การแสดงพฤติกรรมแบบนี้เกิดจากพันธุกรรมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ และมีแบบแผนที่แน่นอนเฉพาะตัว ดังนั้นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะแสดงพฤติกรรมเหมือนกันหมด เช่น การดูดนมของทารก การกระพริบตาเมื่อผงเข้าตา การชักใยของแมงมุม การหนีแสงของไส้เดือน เป็นต้น
  2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ เช่น ลูกเป็ดเดินตามแม่เป็ด การเลิกแหงนมองตามเสียงเครื่องบินของสุนัขที่อาศัยอยู่แถวสนามบิน เป็นต้น

การตอบสนองต่อสิ่งเร้าในลักษณะต่างๆ
การตอบสนองเมื่อแสงเป็นสิ่งเร้า เช่น การหรี่ตาเมื่อแสงเข้าตามากเกินไป การบินเข้าหาแสงของแมลง การที่นกบินออกจากรังในตอนเช้า

การตอบสนองเมื่ออุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า เช่น แมวจะเลียอุ้งเท้าตอนอากาศมีอุณหภูมิสูง หมูจะหนีร้อนด้วยการแช่โคลน กิ้งก่าจะหลบร้อนอยู่ตามโพรงไม้ เมื่ออากาศหนาวหมีจะจำศีล

การตอบสนองเมื่อน้ำเป็นสิ่งเร้า เช่น ไส้เดือนจะเคลื่อนที่หาความชื้น สัตว์ในทะเลทรายจะออกหากินตอนกลางคืนเพื่อลดการสูญเสียน้ำ

การตอบสนองสิ่งเร้าเมื่อการสัมผัสเป็นสิ่งเร้า เช่น อึ่งอ่างจะพองตัวเมื่อได้รับการสัมผัสจะพองตัว กิ้งกือจะขดหัวเข้าด้านในเมื่อถูกสัมผัส หอยจะหดตัวเข้าไปในเปลือก

การตอบสนองสิ่งเร้าเมื่อกลิ่นเป็นสิ่งเร้า เช่น สุนัขปัสสาวะทิ้งไว้เพื่อแสดงอาณาเขตหรือทางเดิน การเดินตามกลิ่นของมด

สรุปสาระสำคัญ
พฤติกรรมหรืออาการของสิ่งมีชีวิตที่แสดงออกมานั้น เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
สิ่งเร้ามีทั้งเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและเกิดจากภายในร่างกาย

09. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการขยายพันธุ์สัตว์

เทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology)
เทคโนโลยีชีวภาพ คือกระบวนการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรม และเทคนิควิธีเพื่อให้เทคโนโลยีชีวภาพมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ
1. การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นการพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่ดีตามความต้องการและเพิ่มผลผลิต ได้แก่

การผสมเทียม คือการฉีดน้ำเชื้อของเพศผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียที่เป็นสัด เซลล์อสุจิจะผสมกับเซลล์ไข่ ซึ่งน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์เพียงครั้งเดียว สามารถแบ่งใช้ผสมกับสัตว์ตัวเมียได้มาก และยังผสมพันธุ์สัตว์ที่มีขนาดต่างกันได้

การถ่ายฝากตัวอ่อน เป็นวิธีเพิ่มจำนวนลูกให้ได้ลักษณะดี กระตุ้นแม่พันธุ์ให้ตกไข่ แล้วฉีดน้ำเชื้อเพศผู้เข้าไป เกิดปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน จากนั้นย้ายตัวอ่อนที่ดีจากมดลูกแม่พันธุ์ไปฝังในมดลูกของสัตว์ตัวรับ สัตว์ที่นิยมถ่ายฝากตัวอ่อน คือสัตว์ที่ตกลูกครั้งตัวและระยะเวลาตั้งท้องนาน เช่น โค กระบือ วิธีนี้ช่วยให้คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ดีขึ้น ขยายพันธุ์ได้เร็ว และลดระยะเวลาค่าใช้จ่ายในการขยายพันธุ์

การปฏิสนธินอกร่างกาย เป็นการใช้ตัวอ่อนจากท่อนำไข่หรือมดลูกมาเลี้ยงไว้ในหลอดทดลอง โดยต้องปรับสภาพในปลอดทดลองให้ใกล้เคียงกับสภาพร่างกาย เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดเบส หลังจากนั้นนำไปฝังในมดลูกของสัตว์ตัวรับ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนตัวอ่อนได้ในราคาถูกลง และแก้ปัญหาสัตว์ที่มีพันธุกรรมดี แต่มีปัญหาผสมติดยาก

การโคลนนิ่ง คือการสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่โดยไม่ปฏิสนธิ สิ่งมีชีวิตที่ได้มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแบบทุกประการ ซึ่งแกะตัวแรกของโลกที่ได้จากการโคลนนิ่ง ชื่อว่า ดอลลี่ วิธีคือนำนิวเคลียสออกจากเซลล์ไข่ แล้วใส่นิวเคลียสเซลล์ร่างกายของสัตว์ชนิดเดียวกันที่มีสายพันธุ์ตามต้องการมาแทนที่นิวเคลียสของเซลล์ไข่ เพาะเลี้ยงจนเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกของสัตว์ตัวรับ ซึ่งวิธีนี้ช่วยเพิ่มปริมาณสิ่งมีชีวิตพันธุ์ดีๆได้จำนวนมาก

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือการนำเฉพาะบางส่วนของพืชมาเพาะเลี้ยง เพื่อให้ได้พืชชนิดนั้นทั้งต้น ทำให้มีขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมาก แม้ว่าพืชนั้นจะมีจำนวนน้อยต้นก็ตาม

2. เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม คือการตัดต่อพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน ให้ได้ลักษณะที่ต้องการ แล้วถ่ายยีนลูกผสมกลับสู่สิ่งมีชีวิตที่ต้องการให้เปลี่ยนพันธุกรรม ซึ่งส่งผลดี เช่น สร้างฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต การผลิตวัคซีน ยาปฏิชีวนะ เอนไซม์ และวิตามิน ผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ได้มาก สร้างพืชที่มีความต้านทานโรคบางชนิด โดยดัดแปลงพันธุกรรมพืชเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ต้องการ ที่เราเรียกว่า GMOs อีกทั้งยังช่วยในด้านการแพทย์ด้วยการใช้ยีนบำบัดรักษาโรค ผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน

3. เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม คือการลดการใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำของเสียจากสิ่งมีชีวิตไปทำปุ๋ยชีวภาพ หรือการใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดขยะหรือน้ำเสีย

สรุปสาระสำคัญ
เทคโนโลยีชีวภาพ คือเทคโนโลยีที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต

10. อาหารกับการดำรงชีวิต
อาหารกับการดำรงชีวิต
อาหาร (Food) คือสิ่งที่รับประทานเข้าไปและเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย

สารอาหาร หมายถึง สารเคมีที่อยู่ในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

สารอาหารที่ให้พลังงาน
1.คาร์โบไฮเดรต ส่วนใหญ่ได้จากพืช ถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคส สะสมอยู่ในตับและกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี

การทดสอบแป้งใช้สารละลายไอโอดีน จะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง
การทดสอบน้ำตาลใช้สารละลายเบเนดิกต์ จะเปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นตะกอนสีส้ม
2.โปรตีน พบในเนื้อสัตว์ นม และไข่ ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ กล้ามเนื้อ ฮอร์โมน และเอนไซม์ โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี

การทดสอบโปรตีนใช้สารไบยูเรตทดสอบ โดยจะเปลี่ยนเป็นสีเป็นสีม่วง
3.ไขมัน เมื่อย่อยแล้วเกิดกรดไขมันกับกลีเซอรอล ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ดูดซึมวิตามินบางชนิด ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี

การทดสอบไขมัน ดูการโปร่งแสงของกระดาษไข
สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน

1.วิตามิน ควบคุมปฏิกิริยาต่างๆในร่างกาย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
– วิตามินที่ละลายน้ำ ได้แก่ B1, B2, B3, B6, C และ B12

วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ A, D, E, K
2.*แร่ธาตุ * ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

3.น้ำ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์และเนื้อเยื่อ

ความต้องการพลังงาน
ความต้องการพลังงานของร่างกายขึ้นอยู่กับ
เพศ เพศชายต้องการพลังงานมากกว่าเพศหญิง
วัย วัยรุ่นต้องการพลังงานมากกว่าวัยเด็กและวัยชรา
อาชีพ ผู้ใช้แรงงานต้องการพลังงานมากกว่าผู้ไม่ใช้แรงงาน
หนักตัว ผู้มีน้ำหนักตัวมากต้องการพลังงานมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
อุณหภูมิ ผู้ที่อยู่ในเมืองหนาว ต้องการพลังงานมากกว่าผู้ที่อยู่ในเมืองร้อน
การพิจารณาว่าน้ำหนักเหมาะสมหรือไม่ คำนวณจากดัชนีมวลกาย

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (kg)/ส่วนสูง (m2)

วัตถุเจือปนในอาหาร
วัตถุเจือปนในอาหารเป็นสารปนเปื้อนที่อยู่ในอาหาร ซึ่งบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น

สีผสมอาหาร สามารถใส่ในประมาณน้อยเพื่อเพิ่มสีสันให้อาหาร แต่หากสะสมในร่างกายมากไป จะทำให้ผิวหนังเป็นผื่น หน้าบวม อาเจียน และอ่อนเพลีย

วัตถุกันเสียที่ช่วยให้อาหารเก็บไว้นาน เช่น กรดเบนโซอิก โซเดียมไนเตรต ห้ามรับประทานเพะทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และถ้าได้รับปริมาณมากก็อาจตายได้เช่นกัน

พยาธิหรือไข่พยาธิ พบในอาหารที่ไม่สุก เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ผอม ตับโตและแข็ง

แอลฟาทอกซิน เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง พบในพริกป่น ถั่วลิสง ผู้ที่รับเข้าไปอาจจะปวดท้อง อาเจียน เท้าบวม และตับโต

สรุปสาระสำคัญ
สารอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย และควรรับประทานให้เหมาะสม
วัตถุเจือปนอาหารเป้นสารปนเปื้อนจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ต้องระวังในการใช้

11. สารเสพติด ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกัน

สารเสพติด ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกัน

สารเสพติด คือสารใดก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีรับประทาน ดม สูบ หรือฉีด จะมีผลทำให้ร่างกายทรุดโทรมและจิตใตผิดปกติ

องค์การอนามัยโลกได้แบ่งสารเสพติดออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่

  1. ประเภทฝิ่น มอร์ฟีน และสารที่ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน
  2. ประเภทบาร์บิทูเรต รวมทั้งสารที่ออกฤทธิ์เหมือนกัน เช่น เซโคบาร์บิทาล อะโมบาร์บิทาล พาราดีไฮด์
  3. ประเภทแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ วิสกี้
  4. ประเภทแอมเฟตามีน ได้แก่ แอมเฟตามีนหรือยาบ้า เมทแอมเฟตามีน
  5. ประเภทโคเคน ได้แก่ โคเคน ใบโคคา
  6. ประเภทกัญชา ได้แก่ ใบและยางกัญชา
  7. ประเภทใบกระท่อม
  8. ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็นที เมสตาลีน เมล็ดมอนิ่งกลอรี่ ต้นลำโพง และเห็ดเมาบางชนิด
  9. สารนอกเหนือจาก 8 ประเภท ได้แก่ สารระเหย ทินเนอร์ เบนซิน น้ำยาล้างเล็บ ยาแก้ปวด และบุหรี่

หากแบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ก็จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ประเภทกดประสาท เมื่อเสพเข้าไปแล้วกดประสาท ทำให้สมองมึนงง และควบคุมร่างกายไม่ได้ ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย ยากล่อมประสาท
  2. ประเภทกระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าไปแล้วกระตุ้นประสาท ทำให้ร่างกายทำงานเกินขีดความสามารถของร่างกาย ได้แก่ แอมเฟตามีนหรือยาบ้า กระท่อม โคคาอีน
  3. ประเภทหลอนประสาท เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้ผู้เสพจิตหลอนได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี เห็ดขี้ควาย
  4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน อาจกด กระตุ้น หรือหลอนประสาทได้พร้อม ๆ กัน เช่น กัญชา

สาเหตุที่ทำให้ติดสารเสพติด

  • ความอยากรู้อยากลอง
  • เพื่อนชักชวน
  • ถูกหลอกลวงด้วยรูปแบบและสีสัน ทำให้ผู้รับไม่ทราบว่าเป็นสารเสพติด
  • ใช้ลดความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บ จนเกิดการติดยา
  • เกิดจากความคะนองและขาดสติ
  • สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ครอบครัวแตกแยก ปัญหาเศรษฐกิจ

ผลของการติดสารเสพติด
ด้านอารมณ์และพฤติกรรม ผู้ติดสารเสพติดจะมีอารมณ์รุนแรงและพฤติกรรมที่ผิดแปลกจากเดิม เช่น เก็บตัว ก้าวร้าว กระสับกระส่าย จิตหลอน และแสดงอาการอยากสารเสพติด

ด้านสุขภาพร่างกาย ทำให้สุขภาพทรุดโทรม

การป้องกันจากสารเสพติด

  • เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่
  • เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์
  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโทษของสารเสพติด
  • หลีกเลี่ยงจากผู้ติดสารเสพติด
  • อย่าคิดว่าการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือลองสารเสพติดเป็นเรื่องโก้เก๋
  • ใช้ยาที่แพทย์แนะนำให้ตามที่แพทย์สั่งไว้เท่านั้น และห้ามใช้ยาอันตรายโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ยึดมั่นในหลักศาสนา

สรุปสาระสำคัญ
สารเสพติดเป็นสารต้องห้าม ซึ่งไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว
สารเสพติดมีหลายประเภท ล้วนแล้วอันตราย

  • Admins

    Related Posts

    ทุนปริญญาตรี หลักสูตร iCLA (Yamanashi Gakuin University)

    ทุนปริญญาตรี หลักสูตร iCLA (Yamanashi Gakuin University) เปิดรับสมัครนักศึกษา ระดับ ปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ iCLA (The International College of Liberal Arts) หลักสูตรอินเตอร์ ประจำปีการศึกษา 2024 เข้าศึกษาเทอมกันยายน 2024 หลักสูตร iCLA (The International College of Liberal Arts)…

    Doshisha Business School, Doshisha University

    Doshisha Business School, Doshisha University หลักสูตรที่เปิดสอน

    You Missed

    General Well (2024) งานเลี้ยงหนานเฉิง

    • By FINN
    • June 22, 2024
    • 16 views
    General Well (2024) งานเลี้ยงหนานเฉิง

    ร้านราเมนทงคตสึชื่อดัง อุเมดะ ชิบาตะ (ICHIRAN Umeda Shibata)

    • By FINN
    • June 17, 2024
    • 10 views
    ร้านราเมนทงคตสึชื่อดัง อุเมดะ ชิบาตะ (ICHIRAN Umeda Shibata)

    The Legend of Heroes Hot Blooded (2024) มังกรหยก ก๊วยเจ๋งอึ้งย้ง

    • By FINN
    • June 17, 2024
    • 11 views
    The Legend of Heroes Hot Blooded (2024) มังกรหยก ก๊วยเจ๋งอึ้งย้ง

    Miss Night and Day (2024) มิส ไนท์ แอนด์ เดย์

    • By FINN
    • June 16, 2024
    • 15 views
    Miss Night and Day (2024) มิส ไนท์ แอนด์ เดย์

    Jade’s Fateful Love (2024) ปาฏิหาริย์รักหยกวิเศษ

    • By FINN
    • June 16, 2024
    • 9 views
    Jade’s Fateful Love (2024) ปาฏิหาริย์รักหยกวิเศษ

    Deep Love Love Again (2024) ปมรักในรอยแค้น

    • By FINN
    • June 15, 2024
    • 13 views
    Deep Love Love Again (2024) ปมรักในรอยแค้น